1415 จำนวนผู้เข้าชม |
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนารถไฟฟ้าเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ 2 ปัจจัยด้วยกัน
ปัจจัยแรกคือรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนบนทางเฉพาะ (ราง) จึงไม่ต้องเสียเวลาไปกับการจราจรติดขัดบนถนน จึงทำให้เกิดอุปสงค์ (Demand) ไม่เพียงแค่ที่อยู่อาศัยแต่รวมทั้งอาคารพาณิชย์อย่างออฟฟิศและห้างสรรพสินค้าด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยที่ 2 คือเมื่อมีสถานีรถไฟฟ้า จะเกิดการพัฒนาบริเวณพื้นที่รอบสถานรถไฟฟ้าตามหลักการ TOD (Transit Oriented Development) เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของกิจกรรมทั้งด้านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า
ทั้งหมดนี้จึงเป็นหนึ่งในที่มาว่า ทำไมราคาที่ดินรอบสถานีถึงแพงขึ้น นั่นเพราะมีความต้องการพัฒนาสูงนั่นเอง
รถไฟฟ้าจะมาแล้ว คนกรุงพร้อมลงทุนกันหรือยัง
ปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินที่มีการให้บริการอยู่นี้ มีทั้งสิ้น 11 เส้นทาง 141 สถานี โดยในปี 2566-2570 คาดว่าจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการอีก 7 เส้นทาง พร้อมกระตุ้นการพัฒนาให้เกิดขึ้นกระจายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปดู 4 เส้นทางใหม่กันเลย เส้นไหนจะเนื้อหอมน่าตามไปลงทุนบ้าง
1. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู
จากเดิมที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จำนวน 23 สถานี และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 แต่ตอนนี้มีการเลื่อนการเปิดให้บริการออกไป โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงทดลองภายในปี 2566 และหลังจากนั้นอัตราค่าโดยสารคาดว่าจะเริ่มต้นที่ 15 - 45 บาท
2. รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย
นอกจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการใรปี 2566 แล้ว รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ก็อยู่ในระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ลงเสาเข็ม และการก่อสร้างส่วนอื่น ๆ ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หากการก่อสร้างเป็นไปตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2568 ประกอบด้วย 3 สถานี
3. รถไฟฟ้าสายสีส้ม
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเส้นทางสำคัญที่จะเชื่อมต่อโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก โดยเป็นอีกเส้นทางรถไฟฟ้าที่การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 95% ซึ่งเร็วกว่าแผนการ และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
4. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยาย
กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีกำลังจะได้รถไฟฟ้าอีกสาย นั่นก็คือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือสายสีม่วงใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในปี 2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570 ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
รถไฟฟ้าต่างจังหวัด เส้นทางน่าลุงทุนไม่แพ้กรุงเทพฯ
รถไฟฟ้าสายสีเขียวโคราช เรียกได้ว่าเป็นแผนการสร้างรถไฟฟ้าแห่งแรกในต่างจังหวัดที่มีความชัดเจนมากที่สุดในขณะนี้ โดยล่าสุดหลังจากมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยรฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา เบื้องต้นคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวโคราชจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และเปิดให้บริการในปี 2571
นอกจากรถไฟฟ้าโคราชแล้ว ยังมีโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ตและขอนแก่นที่อยู่ระหว่างการศึกษาการดำเนินการ และเชื่ออย่างยิ่งว่าจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในอีกไม่นานเกินรอแน่นอน
จากข้อมูลอัปเดตของสถานีรถไฟฟ้าเปิดใหม่ในปี 2566-2570 ทั้ง 4 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และแถม 1 เส้นทางในต่างจังหวัด หวังว่าจะช่วยให้เหล่านักลงทุนสามารถนำข้อมูลนี้ไปประกอบการวิเคราะห์ และการตัดสินใจลงทุนในทำเลศักยภาพเหล่านี้ได้ทันที