1512 จำนวนผู้เข้าชม |
ราคาประเมินที่ดินโดยกรมธนารักษ์จะมีการประกาศใช้เป็นรอบทุก ๆ 4 ปี โดยปัจจุบันเราใช้ราคาประเมินที่ดิน รอบปี 2559-2562 ซึ่งต่ออายุการใช้งานถึงสิ้นปี 2565 นี้ เนื่องด้วยภาครัฐเล็งเห็นว่าควรชะลอการปรับราคาที่ดินเพื่อบรรเทาค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับที่ดินให้กับประชาชนจากสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา และสำหรับราคาประเมินที่ดินรอบต่อไป ทางกรมธนารักษ์จะมีการประกาศใช้รอบใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2566 และใช้ไปจนถึงปี 2569 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ราคาประเมินที่ดิน รอบปี 2566-2569
จากการประเมินราคาที่ดินกรมธนารักษ์ พบว่าราคาที่ดินมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8% ทั่วประเทศ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3% และในต่างจังหวัดปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8% ทั้งนี้การปรับเพิ่มของราคาที่ดินเกิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งราคาประเมินที่ดินเป็นราคาที่อ้างอิงตามแนวถนน ทำให้หลายพื้นที่มีราคาประเมินที่ดินเปลี่ยนแปลงไปมากอย่าง ซึ่งบางพื้นที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 100% วันนี้จะชวนทุกท่านมาเช็กราคาประเมินรอบใหม่ ว่าราคาประเมินที่ดินทำเลไหนมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างไรกันบ้าง เป็นที่ดินในครอบครองของท่านหรือไม่
ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ
ที่ดินยอดฮิตในกรุงเทพฯ ยังคงหนีไม่พ้นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ หรือ CBD ที่มีราคาที่ดินสูงที่สุดในประเทศมายาวนานหลายสิบปี อย่างสีลม-สาทร และพื้นที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงสุดในรอบปีบัญชี 66-69 นี้ อันดับ 1 มีราคาประเมินอยู่ที่ 1,000,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งมีแชมป์ร่วมกันหลายถนน คือ ถนนสีลม, ถนนเพลินจิต, ถนนพระรามที่ 1 และถนนวิทยุ
10 ถนนที่มีราคารองลงมา คือ ถนนราชดำริ ช่วงถนนที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 900,000 บาทต่อตารางวา, ถนนสาทร ช่วงถนนที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 800,000 บาทต่อตารางวา, ถนนสุขุมวิท ช่วงถนนที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 750,000 บาทต่อตารางวา, ถนนเยาวราช ราคา 700,000 บาทต่อตารางวา, ถนนอโศกมนตรี ราคา 600,000 บาทต่อตารางวา ถนนทองหล่อ ราคา 500,000 บาทต่อตารางวา ถนนพระราม 4 ช่วงถนนที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาทต่อตารางวา, ถนนรัชดาภิเษก ช่วงถนนที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาทต่อตารางวา และถนนพญาไทราคา 500,000 บาทต่อตารางวาเช่นกัน และอันดับที่ 10 คือถนนเจริญกรุงช่วงถนนที่มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 450,000 บาทต่อตารางวา
ราคาที่ดินในต่างจังหวัด
สำหรับที่ดินในต่างจังหวัด การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนแปลงที่ดินตามแนวรถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ และย่านการค้าชุมชน โดยราคาที่ดินสูงที่สุดในต่างจังหวัดอยู่ที่จังหวัดชลบุรี บนถนนเลียบหาดพัทยา ในอำเภอบางละมุง ราคา 220,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งเป็นราคาที่มีการปรับขึ้นสูงกว่า 40%
นอกจากนี้การกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ยังส่งผลให้ที่ดินในภาคตะวันออกมีภาพรวมปรับขึ้นสูงที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ราคาสูงสุด 100,000 บาทต่อตารางวา, ถนน 3574 (ระยอง-บ้านค่าย) จังหวัดระยอง มีราคาสูงสุด 60,000 บาทต่อตารางวา, อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ราคาสูงสุด 100,000 บาทต่อตารางวา, บริเวณถนน 304 (สุวินทวงศ์) ราคาสูงสุด 50,000 บาทต่อตารางวา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าราคาประเมินที่ดินโดยกรมธนารักษ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบนี้ มีผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่หลายคนกำลังจับตามองถึงการพัฒนาในอนาคต เพราะมีสัญญาณการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้านี้เราจะได้เห็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของประเทศไทยหลังจากพักฟื้นกันมานานได้เสียที