1269 จำนวนผู้เข้าชม |
เชื่อว่าหลาย ๆ คนกำลังเจอปัญหาของพื้นที่ห้อง ที่เริ่มหายไปเรื่อย ๆ หาของไม่ค่อยเจอ ของที่หยิบมาใช้ก็ดันใช้ไม่ได้ ถึงจะพยายามเก็บกวาดสิ่งของเท่าไหร่ แต่ห้องเจ้ากรรมก็ดูระเกะระกะไม่เข้าที่สักที มองไปแล้วก็ชวนให้หงุดหงิดรำคาญใจเพราะเหมือนยังไม่ได้สะสางสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จ
วันนี้จึงอยากชวนทุกท่านให้มาจัดระเบียบห้องให้น่าอยู่ด้วยหลักการ “คนมาริ (Konmari)” ของคุณมาริเอะ คนโด (Marie Kondo) จากซีรีย์ยอดฮิตเรื่อง Tidying Up with Marie Kondo ที่หาชมได้ทาง Netflix
6 ทริคแบบ “คนมาริ” จัดบ้านให้น่าอยู่มากขึ้น
คุณมาริเอะ คนโด มีวิธีจัดระเบียบบ้านที่น่าสนใจและทุกคนสามารถนำไปใช้ตามได้ โดยเขาได้แบ่งหมวดหมู่สิ่งของออกเป็น 6 หมวด แต่ละหมวดมีทริคในการจัดเก็บอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
1. หมวดเสื้อผ้า
เสื้อผ้าเป็นทั้งของใช้จำเป็นและของใช้ฟุ่มเฟือยในเวลาเดียวกัน บางคนมีเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion หรือบางคนก็อาจยังมีเสื้อผ้าสมัยเด็กเก็บไว้อยู่เลย ลองทำตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้
· แบ่งเสื้อผ้าออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ ผ้าที่เก็บไว้ใช้ ผ้าที่จะนำไปบริจาค และผ้าที่จะทิ้ง
· พับผ้าเป็น 3 เหลี่ยมตามวิธีคนมาริ เพื่อทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น และหาได้ง่าย
· สำหรับเสื้อผ้าชิ้นเล็ก ๆ อย่างชุดชั้นใน ผ้าเช็ดหน้า ถุงเท้า ให้เก็บลงกล่องจัดระเบียบ
2. หมวดของใช้ในครัวเรือน
ห้องครัวและพื้นที่ทานอาหาร เป็นอีกพื้นที่ที่มีสิ่งของเยอะและจัดเก็บยาก ลองทำ 3 ขั้นตอน ดังนี้
· แยกหมวดของใช้ในครัว อย่างภาชนะและอุปกรณ์ทำอาหาร เครื่องปรุง และของใช้จิปาถะอย่างถุงและผ้าเช็ดมือ
· หากล่องจัดระเบียบมาใส่ของใช้แยกตามหมวดหมู่และแปะข้อความไว้ที่กล่องก่อนนำไปใส่ลิ้นชัก เพื่อให้หาของได้ง่ายขึ้น
· สำหรับเครื่องปรุงต่าง ๆ แนะนำให้ใส่กล่องใส เพื่อให้เห็นภายในได้ว่าใกล้หมดหรือยัง
3. หมวดเอกสาร
ถึงแม้ว่าปัจจุบันเอกสารในชีวิตจะถูกจัดส่งเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลก็ดี แพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็ดี แต่ก็ยังมีเอกสารบางประเภทที่ยังคงส่งมาแบบ Hard Copy อย่างบิลค่าน้ำค่าไฟ หนังสือทางราชการ จดหมายสำคัญประจำปี เป็นต้น วิธีจัดการก็มีอยู่ 3 ขั้นตอนดังนี้
· แยกเอกสารที่รอการดำเนินการ จำพวกใบเรียกเก็บเงินต่าง ๆ ให้เก็บใส่ซองไว้เพื่อค้นหาง่าย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็นำไปรีไซเคิล
· แยกเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคตไปอีกนาน เช่น เอกสารกรมธรรม์ หนังสือเดินทาง สมุดบัญชี ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ให้จัดเก็บใส่กล่องและนำไปเก็บไว้ในที่ไม่มีความชื้น ไม่มีแมลงรบกวน และปลอดภัยจากการถูกทำลาย
· เอกสารจิปาถะ เช่น กระดาษโน๊ต ใบสั่งยา ฯลฯ ให้เก็บไว้ในที่หยิบขึ้นมาดูง่าย
4. หมวดหนังสือ
แน่นอนว่าหนังสือมีทั้งที่เราตั้งใจซื้อมาเอง มีคนให้มา จึงมีทั้งที่ประทับใจและที่ไม่สนใจเลย จึงแนะนำให้ทำ 2 ขั้นตอนนี้
· หนังสือที่ประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจ เก็บไว้และจัดระเบียบชั้นวางหนังสือ
· หนังสือที่เราไม่ใช้แล้ว แยกเพื่อบริจาค หรือทิ้ง
5. หมวดของจิปาถะ
หมวดนี้เป็นของใช้กระจุกกระจิก เช่น เครื่องนอน เครื่องเขียน และเครื่องมือช่าง เป็นต้น สามารถจัดเก็บดังนี้
· แยกของจิปาถะตามขนาดของสิ่งของ เพราะใช้ที่เก็บภายในบ้านต่างกัน เช่น หมอน ผ้าห่มสำรอง กุณแจ ฯลฯ
· นำไปใส่ไว้ในกล่องจัดระเบียบตามหมวดหมู่ติดข้อความและแถบสี ๆ ให้เห็นชัดเจน
· แยกของใช้ที่ซื้อมาสต๊อกทดแทนของที่จะหมด เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า ฯลฯ ไว้ในกล่องใส
6. หมวดของที่มีคุณค่าทางใจ
สิ่งของมีคุณค่าทางใจคงไม่มีใครทิ้งได้ลง จึงต้องหาที่เก็บและที่ตั้งโชให้เห็นกันไปเลย มีวิธีจัดเก็บ 2 ขั้นตอนดังนี้
· แยกหมวดหมู่ที่กำหนดขึ้นมาเอง เช่น ที่เที่ยว ครอบครัว วัยเด็ก เป็นต้น
· หากเป็นรูปภาพให้จัดใส่อัลบั้มรูป ใส่กรอบรูป และใส่กล่องที่ใช้สำหรับหยิบขึ้นมาดูนาน ๆ ครั้ง
สำหรับวิธีจัดระเบียบบ้านของคุณมาริเอะ ซึ่งเน้นไปที่การจัดเก็บของให้เข้าที่อย่างเป็นระเบียบและหาเจอได้ง่าย แต่ของบางอย่างสามารถแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำไปขายเป็นสินค้ามือสองได้ด้วย อย่างเสื้อผ้า ขวดน้ำ ขวดบรรจุภัณฑ์ กระดาษใช้แล้ว ลังกระดาษ รวมถึงของใช้ที่หมดอายุอย่างถ่ายไฟฉายหรือแบตเตอรี่ น้ำมันใช้แล้ว ก็สามารถแยกทิ้งเพื่อให้หน่วยงานนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีได้ เท่านี้คุณก็จะได้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเพิ่มแล้วหละ